หลุนหลุน กับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกที่คอแตก 3

ภาคผนวกปลีกย่อย  1

ช่วงที่กินสเตียรอยด์ผลข้างเคียงคือหลุนจะกินน้ำเยอะมากและฉี่บ่อยมากร่วมกับอาการตะกละแบบคูณสิบ และอาการกระวนกระวายไม่สบายตัวอาจมาจากการถูกยากัดกระเพาะ เราจึงพยายามคิดหาวิธีช่วยให้นางรู้สึกสบายตัวสบายใจขึ้นด้วยอาหารและการปฏิบัติตัว เราหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่จะช่วยบำรุงร่างกาย เลือดและตับไต 
โจทย์คือต้องไม่ให้น้ำหนักขึ้นแต่ก็ต้องไม่ให้หมาเครียดเพราะหิว...
 
เราใช้วิธีปรุงอาหารเองโดยทำต้มจืดใส่อกไก่ลอกหนัง ใส่แครอท ฟักแก่หั่นเต๋า กะหล่ำปลีซอย กวางตุ้งหั่นชิ้นเล็กๆ หรือผักกาดขาวสลับกันไป บางทีก็ใส่เต้าหู้ไข่ไก่ให้ด้วย อกไก่ลอกหนังเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี ย่อยง่าย ช่วยเรื่องการลดน้ำหนักตัวด้วย ส่วนแครอท กะหล่ำปลีช่วยเรื่องการบำรุงตับไต และผักต่างๆ ช่วยเรื่องการขับถ่ายด้วย ทั้งหมดต้มจนเปื่อยไม่มีการปรุงรส ให้ร่วมกับข้าวกล้องหุงสุกประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ ให้วันละ 2 มื้อเช้า-เย็น ตอนกลางวันเพื่อไม่ให้ท้องว่างนานเกินไปเนื่องจากสเตียรอยด์กัดกระเพาะ ก็จะเสริมผลไม้เป็นแอ๊ปเปิ้ลฝานบางครึ่งลูก(วิตามินซีเสริมภูมิฯ) กล้วยน้ำว้าสุก(ช่วยเรื่องกระเพาะ) หรือว่าลิ้นจี่(ช่วยเรื่องตับ)  อิ่มท้องและวิตามินต่างๆในผลไม้จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย 
ตอนแรกว่าจะให้กินวิตามินซีเป็นเม็ด สอบถามหมอเรื่องโด๊ซมาแล้วหมอบอกถ้าอยากให้ก็ให้ได้ แต่ต้องไม่เกินวันละ 500 มิลลิกรัม คิดไปคิดมาตัดสินใจไม่ให้ดีกว่าเพราะหลุนต้องกินยาเยอะอยู่แล้วยังต้องมากินวิตามินอัดเม็ดอีกจะเพิ่มภาระแก่ตับไต เลยตัดสินใจให้เป็นผลไม้แทน  ราว 2-3 ทุ่มก็จะให้เป็นน้ำซุปใสมีผักเล็กน้อยและอกไก่ฉีก นำมาอุ่นให้กินก่อนนอน ที่ต้องแบ่งเป็น 4 มื้อแบบนี้ก็เพื่อลดความกระวนกระวายในการอยากอาหารของหลุนให้บรรเทาลง ป้องกันไม่ให้กระเพาะว่างนานไป เดี๋ยวหายจากโรคนี้ต้องมานั่งรักษาโรคกระเพาะกันอีก 

ซึ่งสูตรอาหารนี้เราคิดว่าได้ผลกับหลุนมากในทุกด้าน น้ำหนักตัวหลุนนอกจากจะไม่เพิ่มแล้วยังลดลงจากเดิมหนักเกือบ 11 กิโลกรัมค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆจนน้ำหนักก่อนผ่าตัดคือ 8.92 กิโลกรัมโดยไม่มีอาการโหย เครียด หรือเป็นอันตรายแก่สุขภาพใดๆ นางเอนจอยในการกิน ไม่มีความเครียดจากการกระวนกระวายอยากอาหารและมีความสุขที่ได้กินถึงวันละ 4 มื้อ ก่อนผ่าหมอเองยังออกปากว่าไม่น่าเชื่อว่าค่าตับไตจะไม่ขึ้นเลยทั้งๆที่กินสเตียรอยด์เต็มโด๊ซ และหลังผ่าตัดหลุนก็ฟื้นตัวได้เร็วจนน่าประหลาดใจ ซึ่งเราคิดว่าล้วนมาจากการเตรียมร่างกายของหลุนจนพร้อมสำหรับการผ่าตัด

เราโชคดีที่หมาทุกตัวทีเราเลี้ยงกินง่ายมากให้อะไรก็กิน การให้กินผักกินผลไม้ไม่เคยเป็นอุปสรรค หลุนชอบกินผักผลไม้มาก ซันช่ายก็ชอบยื่นอะไรให้ก็กินหมด ทำให้ง่ายต่อการดูแล แต่ถ้าให้แบบไม่มีสติสองนางก็อ้วนง่ายมากเช่นกัน ซึ่งเรืองอาหารการกินนี่เป็นเรื่องที่ไฟต์กันมาตลอดตั้งแต่หลุนอายุ 4 เดือนจนปัจจุบัน 11 ขวบ ใครเคยเลี้ยงบีเกิ้ลจะเข้าใจในเรื่องความตะกละของหมาพันธุ์นี้ เวลาไปโรงพยาบาลเจอบีเกิ้ลคนอื่นร้อยละ 95 อ้วนปริ  เห็นแล้วสงสารเพราะมันหมายถึงสุขภาพและโรคภัยที่ตามมา แต่เราก็เข้าใจเจ้าของ เข้าใจจากใจจริงว่าเจ้าของต้องเผชิญกับอะไรบ้างทำไมเลี้ยงแล้วหมาอ้วน 

บีเกิ้ลเป็นสุนัขตะกละ เนื่องจากเค้าบรีดมาให้เป็นสุนัขล่าสัตว์ใช้งานวิธีทำให้สุนัขเชื่อฟังอย่างได้ผลคือใช้อาหาร การฝึกบีเกิ้ลหากใช้อาหารจะฝึกง่ายมากๆ มันจะเต็มใจทำทุกอย่างเพื่อขนม และสามารถกินได้ตลอดเวลาไม่รู้จักอิ่ม อาหารจึงเหมือนเป็นดาบสองคมสำหรับบีเกิ้ล หากเจ้าของไม่มีวินัยและใจไม่แข็งพอ ไม่สามารถต้านทานอาการขี้ขอ ขี้อ้อนของบีเกิ้ลได้ผลคือเลี้ยงแล้วอ้วนปี๋ทุกตัว แล้วโรคภัยไข้เจ็บต่างๆก็จะตามมา

เราเขียนเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างละเอียด จริงๆมีการจดบันทึกในสมุดแบบวันต่อวันด้วย หวังจะเป็นประสบการณ์ให้เจ้าของหมาที่ป่วยเป็นโรคนี้เผื่อเป็นกรณีศึกษา เราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าเราเชื่อหมอคนแรก(ที่จะให้ MRI อย่างเดียว) เสียแต่ตอนนั้นจะเป็นอย่างไร หลุนอาจได้ผ่าเร็วขึ้นก็เป็นได้ แต่เราพิจารณาแล้วรู้สึกว่ามันมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เนื่องจากตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลย รู้แต่หมามีอาการแบบนี้ๆ x-ray แล้วไม่มีอะไรแตกหักแล้วจะ MRI ไปเพื่ออะไร?  มันง่ายสำหรับหมอที่จะโยนให้เราไปพึ่งพาเทคโนโลยี ดูนั่นดูนี่ไปเรื่อยๆ เพราะหมอไม่ได้เป็นคนจ่ายค่าทำ อีกอย่างหลุนเป็นพยาธิในเม็ดเลือด เกล็ดเลือดต่ำไม่เหมาะจะผ่าตัดในตอนนั้น เรากังวลเรื่องนี้ซึ่งเราถามแล้วหมอบอกว่าเกล็ดเลือดแสนนึงก็ผ่าได้ เป็นคำตอบตามตำรา คือผ่าหน่ะผ่าได้แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับหมาอันนี้หมอไม่พูด อย่างที่บอกหลุนแก่แล้ว และอยู่ในช่วงอ่อนแอ เอาแค่วางยาสลบเฉยๆยังเสี่ยงเลย 

เรารู้เรื่องนี้เพราะมีประสบการณ์มาแล้วกับหมาตัวก่อนที่เลี้ยงมาและมาผ่าแล้วตายในห้องผ่าตัดของรพส.เกษตรนี้เหมือนกัน สิบกว่าปีที่แล้วตอนนั้นหมาปวดท้องมากมีอาการบิดเกร็งของกระเพาะและลำไส้ ป่วยหนักและหง่อมมาก มาหาหมอกว่าจะได้คิวผ่าก็ทนปวดอยู่สามสี่วันจนหมาหง่อมมากแล้ว พอส่งเข้าห้องผ่าไม่ถึงสิบนาทีหมอออกมาบอกว่าหมาหยุดหายใจไปตั้งแต่วางยาสลบแล้วยังไม่ทันได้ผ่าเลย ซึ่งเรื่องนี้ทำเราช๊อคและคาใจตั้งแต่ตอนนั้นถึงเรื่องมาตรฐานการวางยา และเรื่องความเสี่ยงว่าทำไมหมอผ่าทั้งๆที่หมาอ่อนแอและมีความเสี่ยงสูง?...

เราคิดว่าถ้าใครไม่ได้เรียนหมอหรือมีประสบการณ์ตรง ก็คงไม่รู้เรื่องนี้ หลังจากนั้นเหตุการณ์คราวนั้นเราเริ่มหาข้อมูล หาหนังสือมาอ่านถึงได้รู้ว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์ หากมีอาการป่วยหนัก อยู่ในสภาวะอ่อนแอหง่อมจากโรคมากๆ แสดงว่า ณ ขณะนั้นภูมิต้านทานต่ำ  โดยปกติแล้วตามธรรมชาติร่างกายเรามีความสามารถในการเยียวยาตัวเองอยู่แล้วโดยไม่ต้องพึ่งพายา สิ่งที่ร่างกายใช้ต่อกรกับเชื้อโรคคือภูมิต้านทาน ภูมิคุ้มกัน โดยมีสารอาหารและวิตามินที่ได้จากอาหารที่กินเข้าไปเป็นเสบียงกรังและอาวุธของกองทัพ  ภูมิต้านทานเหมือนกองทัพส่วนตัวของร่างกายที่จะป้องกันทำลายเชื้อโรคและซ่อมแซมอาการบาดเจ็บ การที่เราเจ็บป่วยหนักๆจนต้องพึ่งหมอพึ่งยามันแปลว่าตอนนี้กองทัพของเรากำลังอ่อนแอ ไม่อยู่ในสภาพที่จะป้องกันตัวเองได้ เรียกง่ายๆว่าภูมิฯตก หรือภูมิฯต่ำ  ส่งผลให้มีความเสี่ยงมากหากต้องเข้ารับการผ่าตัดเพราะร่างกายอาจไม่ฟื้นตัว หรือฟื้นตัวได้ช้า ทำให้มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ และทำให้เสียชีวิตได้ ในคนเราจะเคยได้ยินบ่อยๆว่าถ้าเป็นคนแก่ชรามากๆ หมอจะไม่ทำการผ่าตัดให้ และจะเสนอทางเลือกอื่นในการรักษามากกว่าเหตุเพราะเรื่องภูมิฯนี่แหละทำให้มันมีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิต 


หากเราไม่มีประสบการณ์ตรงเราก็คงไม่รู้ เพราะหมอคนนี้ก็ไม่เอ่ยถึงเรื่องนี้  คือพิจารณาแล้วหมอไม่สนใจด้วยซ้ำ สนใจแต่จะรักษาแบบง่ายๆของตัวเอง MRI เจออะไรก็ส่งผ่าจบงาน. ค่า MRI ค่าผ่าตัด เจ้าของจ่าย ถ้าหมาตายเจ้าของร้องไห้หมอไม่ได้ร้องด้วย พูดง่ายๆคือหมอไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งนั้น หากผ่าออกมาแล้วหมาไม่ฟื้นหรือฟื้นตัวช้า อ่อนแอและเป็นโรคแทรกซ้อน 


จากประสบการณ์ในชีวิตทั้งกับตัวเองและการเลี้ยงสัตว์ เราไม่มีความเชื่อที่ว่าหมอที่ด่วนสรุปไม่ละเอียดรอบคอบจะรักษาได้ดี เราไม่เชื่อว่าความรู้จากการท่องจำตำราที่นำมาจับคู่กับอาการจะเรียกว่าการ 'รักษา' เราเชื่อว่าการรักษาที่แท้จริงมันใช้ใจมากกว่าใช้จำ...เราไม่รู้ว่าหมอเก่งรึเปล่าหรือมีความเชี่ยวชาญแค่ไหน แต่ดูจากการอธิบาย(ไม่อธิบายอะไร) และตอบคำถามกับเรา บวกกับท่าทางที่หงุดหงิดและไม่รับฟังมันค่อนข้างบ่งชี้ถึงอะไรบางอย่างที่เราไม่อาจวางใจได้  เรายอมเสียเวลา เสียเงินในการรักษาเพื่อเซฟทางเสี่ยงและเพิ่มทางรอดให้หลุนมากกว่าจะมักง่ายสักแต่ทำตามหมอ จ่ายๆเงินให้จบๆไป

ชีวิตของหลุนสำคัญไปกว่าความโง่ของเราและอีโก้ของหมอ...

เรารู้สึกดีใจที่วันนั้นหมอให้ยาแบบลวกๆจนเราต้องมาอีกครั้ง เพราะมันทำให้เราได้เจอกับคุณหมอกนกวรรณ  เท่าที่รักษากันมาเราว่าหมอมีสติปัญญามากๆ ใจเย็น เข้าอกเข้าใจยินดีตอบทุกคำถามและอธิบายให้เราเข้าใจ ที่ดีมากๆคือหมอกับเรามีการปรึกษากันตลอดเวลาถึงแนวทางการรักษา หมอไม่ได้ใช้อำนาจของตัวเองในการด่วนสรุปหรือตัดสินหรือถือว่าตัวเองเรียนมาโดยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของเจ้าของสัตว์ หมอไม่มีอีโก้และมีเมตตามากๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือหมอรักสัตว์มาก ดูได้จากความปราณีตในการรักษา การจับสัตว์ที่นุ่มนวลและระมัดระวัง

ที่เราซาบซึ้งใจมากก็คือคุณหมอกนกวรรณเป็นหนึ่งในหมอผ่าตัดของหลุนด้วย (เราเพิ่งรู้ตอนวันผ่าตัดนั่นแหละ)  ปกติหมอผ่าตัดจะม่ีคนเดียว แต่วันนั้นเราเห็นในชาร์จผ่าตัดมีชื่อหมอผ่าตัดสองคน คือคุณหมอภัทธรและคุณหมอกนกวรรณ ตอนที่พาหลุนเข้าไปวางยาสลบหมอกนกวรรณก็เป็นผู้วางยาหลุนเอง 

เราเคยพาหมามาผ่าตัดที่นี่หลายครั้ง ตั้งแต่หลุนทำหมัน ซันช่ายทำหมัน ซันช่ายผ่าเนื้องอกเต้านม เราพอจะรู้ว่าหมอที่นี่เค้าแยกการทำงานกัน โดยปกติแล้วหมอ OPD กับหมอศัลฯจะคนละส่วนกัน เวลามีเคสส่งผ่าก็จะส่งหมาขึ้นชั้นสอง(ศูนย์ศัลยกรรมและการผ่าตัดผ่านกล้อง) ไปตามที่ได้มีการนัดแนะจองคิวหมอผ่าตัดไว้แล้ว สุดแท้แต่หมอศัลฯคนไหนคิวว่างในวันนั้น ซึ่งอาจมีการโทรคุยส่งเคสหรือส่งแฟ้มประวัติขึ้นมาว่าหมาจะผ่าอะไรตรงไหนบ้าง  

นี่เป็นครั้งแรกสำหรับเราที่หมอที่ตรวจรักษาขึ้นมาร่วมผ่าตัดด้วย..

มันแสดงให้เห็นถึงการที่หมอใส่ใจเคสหลุนมากๆ เรารู้สึกอย่างนี้ เพราะตลอดเวลาที่รักษากับหมอมาสองเดือนกว่า หมอใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อยทุกเรื่อง จดจำดีเทล จำหมา จำเจ้าของ จำได้ว่าครั้งที่แล้วคุยอะไรกันไว้ทุกครั้งที่มาก็สามารถลุยต่อได้เลยโดยไม่ต้องมานั่งย้อนถามย้อนอ่านประวัติอะไรกันอีก หมอมีเมตตากับหลุนมากในทุกๆเรื่อง นับเป็นโชคดีของทั้งเราและหลุนที่การได้เจอหมอไม่ดีในตอนแรกทำให้ได้มาเจอหมอที่ดีมากๆ ในที่สุด 

หลุนหลุน กับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกที่คอแตก 4 


บทความที่ได้รับความนิยม